ชอบก็ชอบนะ แต่หลายคนไม่กล้าตกแต่งแนวนี้ เพราะเห็นเยอะแล้ว กลัวจะเกร่อ ก็ไม่เถียงนะ เพราะมีเยอะพอ ๆ กับร้านกาแฟนั่นแหละ !! เอาล่ะสิ .. ความหนักใจก็บังเกิดขึ้นทันที เพราะอยากทำสิ่งที่ชอบ แต่กลัวว่าจะไม่ใช่ TANYARIN จะแนะเคล็ดลับให้นะจ๊ะ
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าทำไมเราไม่จั่วหัวคำว่า "Loft" แทนที่คำว่า "Industrial Design" เพราะคนไทยอินไปกับคำว่า "Loft" มากกว่า พูดปุ๊บ เข้าใจปั๊บ ก็อยากจะทำอยู่นะ แต่อยากทำให้มันถูกต้อง เข้าที่เข้าทางมากกว่า ถามชาวต่างประเทศเรื่อง 2 คำนี้ ทุกคนก็ส่ายหน้าไม่เข้าใจการนำมาถ่ายทอดของคนไทย เพราะคำว่า "Loft" คือ พื้นที่ที่อยู่ใต้หลังคาของบ้านชาวตะวันตก เอาไว้เก็บของต่างหาก ไม่ใช่นำมาทับศัพท์แล้วเรียกเป็นกระแสเช่นนี้ แต่หากจะพูดได้ตรงจริตที่สุด ก็คือ Industrial Design ซึ่งกระแสการตกแต่งแนวนี้มีมาไม่ต่ำกว่า 5 ปีแล้ว จุดเด่น คือ การนำพื้นที่โล่ง เก่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์มานาน ลักษณะเป็นเหมือนโรงงาน หลังคาสูง มาปรับประยุกต์เป็นพื้นที่ใช้สอย โดยปรับปรุงงานระบบให้ใช้ได้ มีความดิบในผนัง โชว์เปลือยงานระบบต่าง ๆ บนผนังและหลังคา และนำเฟอร์นิเจอร์ที่จำเป็นต่อการใช้งาน ได่แก่ Sofa, โต๊ะทำงาน, เก้าอี้ และ ฯลฯ มาจัดวาง แม้จะเข้ากันบ้าง ไม่เข้ากันบ้าง ก็เอามายำรวมกันให้ใช้งานได้นั่นเอง
เมื่อมีความเข้าใจตามนี้แล้ว ก็มาเข้าคำถามที่ว่า กระแสนี้ยังคงได้รับความนิยมรึเปล่า เพราะใจชอบ แต่กังวลว่าจะซ้ำกับบ้าน / ร้านข้าง ๆ กัน TANYARIN กล้าฟันธงได้เลยว่า ถ้าไม่ปรับประยุกต์บ้าง ก็จะเหมือนกับคนอื่น ๆ ไม่สามารถสร้างคุณค่าหรือความแตกต่างได้เลย คำถามต่อมาว่า จะเอาอะไรมาเป็นเกณฑ์ในการปรับ จะเอาอะไรมาประยุกต์ คำตอบมีอยู่ 3 อย่าง คือ
1. ความสวยงาม ตามสมัย หมายถึง แต่ก่อนอาจจะฮิต Minimalism คือ ตกแต่งน้อยให้ได้มาก แต่ปัจจุบันนี้ ต้องตกแต่งให้มากชิ้น แต่ต้องคัดสรรอย่างระวังเรื่องการเข้ากัน หรือ Contrast กันอย่างมีรสนิยม แต่ที่แน่ ๆ ต้องไม่ Gloss อาจจะเข้าขั้น Supreme Matt กันเลยทีเดียว ความดิบที่เจตนาให้บังเกิดบนฝ้าเพดานหรือผนังก็ดี ต้องดิบอย่างดูดีและเรียบร้อย ไม่ใช่ระเกะระกะ ฉาบผนังก็เลอะเทอะเป็นหนังคางคก หรือเปรอะเปื้อนกระดำกระด่างจนถูกตีความว่า ตกแต่งแบบลวก ๆ หรือไร้ Taste นั่นเอง
2. คุณภาพที่คงทน สีไม่เปลี่ยน ไม่แตกร้าว ไม่หลุดร่อน เห็นอยู่บ่อยไปกับการเลือกเฉดสีแต่เริ่มต้นเป็นแบบหนึ่ง แต่เอาเข้าจริงสีจะเข้มกว่าเล็กน้อย เพราะจำเป็นต้องเคลือบ เจ้าของก็จะไม่ได้เฉดสีที่คุยกันไว้ตั้งแต่แรก หลายคนเอาราคามาเป็นตัวตั้ง จนต้องลดทอนคุณภาพลงไป นำวัสดุคุณภาพเกรดต่ำมาฉาบทดแทน ดูสวยงามในช่วงแรก ส่งงานเสร็จ เจ้าของจ่ายเงินไปเรียบร้อย ผ่านไปไม่เกิน 2 อาทิตย์ ก็จะเกิดปรากฎการณ์หลุดร่อน แตกร้าวให้เห็น ที่กล้าพูด เพราะเห็นมากับตา ประสบด้วยตัวเองจากห้างสรรพสินค้าย่านดังเก่าแก่ เปิดตัวไปไม่ถึง 2 อาทิตย์ TANYARIN ก็มีโอกาสไปชื่นชมและ Shopping บ้าง แต่เพียงเดินผ่านผนังและเสาเหล่านั้น ผนังปูนก็กระเทาและหลุดออกมาเลย โดยยังไม่ได้จับสัมผัสแต่อย่างใด หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีการปิดซ่อมแซมช่วงกลางคืน แล้วเปลี่ยนวัสดุฉาบผิวไปเลย หากเจ้าของโครงการหรือผู้รับเหมาไม่ยึดนโยบายเอาราคาถูกเข้าว่า ก็จะไม่ต้องเผชิญหนังสยองเรื่อง "เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย" นั่นเอง
3. ใส่ใจสุขภาพ หลังจากเจอวิกฤติเรื่อง Covid - 19 และฝุ่นมลพิษแล้ว ความโกลาหลเหล่านี้ ส่งผลต่อวงการการออกแบบอสังหาริมทรัพย์ไปด้วย หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า ออกไปข้างนอกเจอฝุ่น PM 2.5 ควรจะอยู่ Indoor ดีกว่า แต่หารู้ไม่ว่า หากสถานที่นั้นได้รับการตกแต่งฉาบผนัง / ฝ้าเพดาน / เฟอร์นิเจอร์ด้วยวัสดุที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้วล่ะก็ สู้ออกไปข้างนอกอาจจะดีเสียกว่า หากเป็นห้องนอนแล้ว ควรต้องกังวลให้มาก เพราะคุณก็จะนอนสูดฝุ่นเข้าปอดทั้งคืนนั่นเอง โรคปอด ภูมิแพ้ และอีกสารพัดก็จะตามมา บ่อยครั้งที่พบเจอการฉาบด้วยวัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่ราคาถูกยั่วใจ ก็จำเป็นต้องเคลือบเพื่อไม่ให้มีฝุ่นออกมา เมื่อเคลือบแล้วสีก็จะเปลี่ยนอีก หรือหากรับได้เรื่องสีเปลี่ยน อยากถามต่อว่า .. แล้วรับได้มั้ยที่จะต้องเสียเงินเคลือบรายปี หนำซ้ำ .. หนักกว่าอีก คือ ผู้รับเหมาไม่เคลือบให้เลย เพราะคนทำไม่ได้อยู่จริง คนอยู่จริงไม่ได้ทำนั่นเอง
Comments