top of page

จะเกิดอะไรขึ้นกับอสังหาริมทรัพย์ไทยในอนาคต

วิกฤติโรคระบาดได้สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายตั้งแต่ระดับจุลภาคและมหภาค นั่นรวมถึงอสังหาริมทรัพย์ของไทยเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้หน้าตาจะเป็นอย่างไร .. มาดูกัน



บ้าน / ที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งประทังชีวิตอย่างหนึ่งที่อยู่ในปัจจัย 4 ธัญรินท์เชื่อว่าใด ๆ ก็ตามที่อยู่ในกลุ่มของปัจจัยจำเป็นของชีวิตนี้ ประโยชน์หลักที่มนุษย์จะได้จากสิ่งจำเป็นเหล่านี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา นั่นคือ การที่คนเราจะได้กินอาหาร มีเสื้อผ้าอาภรณ์ใส่ มียารักษาโรคแล้ว ก็ยังต้องมีที่พักอาศัยให้พักพิงที่ดีด้วย จากอดีตสู่ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบที่พักอาศัยตลอดมา เพื่อให้สอดคล้องกับ Lifestyle ของคนไทยนั่นเอง วันนี้มีโอกาสได้อ่านบทความจากกรุงเทพธุรกิจ แล้วมีความสนใจในมิติของด้านนี้ จึงขอหยิบยกบางส่วนและเพิ่มเติมเพื่อไขความกระจ่างว่าอนาคตของอสังหาริมทรัพย์ไทยจะออกมาเป็นอย่างไร


ลักษณะการอยู่อาศัยของคนไทยจะตอบโจทย์อยู่ 4 อย่าง คือ


  1. อยู่ได้ (Liveability) คือ การอยู่อาศัยได้อย่างถูกสุขลักษณะพื้นฐาน เมื่อเข้าอยู่แล้วส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี การออกแบบเพื่อความสวยงามและการใช้งานจะคำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นหลัก โดยให้เป็นแบบ Universal Design (ออกแบบสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัยและทุกสภาพทางกายภาพ) และมี Space เพื่อให้ทำกิจวัตรต่าง ๆ

  2. อยู่อย่างยั่งยืน (Sustainability) หมายถึง การอยู่แล้วทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ลดการปล่อยคาร์บอน ใกล้เคียงกับ Zero Waste ให้ได้มากที่สุดและลดการใช้พลังงาน

  3. อยู่อย่างยืดหยุ่น (Resilience) ผู้อยู่อาศัยต้องสามารถปรับประยุกต์พื้นที่ใช้สอยได้ตามความต้องการได้

  4. อยู่ไหว (Affordability) ผู้อยู่อาศัยสามารถจ่ายเงินเพื่อที่อยู่อาศัยได้โดยไม่เกินกำลัง


นอกเหนือจากที่อยู่อาศัยแล้ว ยังมีอีกหลายประเภทที่อยู่ในหมวดหมู่ของอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยจะมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้


  1. การพัฒนาเมือง (City and Urban Development) ต้องมีการพัฒนาให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้รับความสะดวกสบายจากการที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีคุณภาพ โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่ครบครัน ทุกคนต้องสามารถเข้าถึงบริการเหล่านั้นได้อย่างเท่าเทียม

  2. สถานที่ทำงาน (Office) จะเป็นลักษณะผสมผสาน (Hybrid Function) หมายถึง มีพื้นที่แบ่งเป็นโซนเพื่อให้นั่งทำงาน ประชุม สันทนาการ และเพื่อความเป็นส่วนตัว ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยเหล่านี้ได้โดยง่าย เพื่อให้เหมาะกับวัตถุประสงค์การใช้งานในแต่ละวัน มีการใช้เทคโนโลยีของการสื่อสารมาช่วยให้การทำงานไหลลื่นและรวดเร็วมากขึ้น

  3. โรงงานและโลจิสติกส์ (Industries and Logistics) ในปัจจุบันนี้มีการใช้เทคโนโลยี ได้แก่ หุ่นยนต์, AI, 5G และฯลฯ เข้ามาช่วยในการผลิต การเก็บสินค้าและการกระจายสินค้า หลังจากนี้ จะมีการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ส่งผลให้การผลิต การบริหารการจัดการ และการเสาะแสวงหาวัตถุดิบเป็นไปอย่างง่ายและมีประสิทธิภาพ

  4. แหล่งค้าปลีก (Retail) ที่ผ่านมาช่องทางการเสพข้อมูลข่าวสารและซื้อขายสินค้า/บริการออนไลน์เติบโตก้าวกระโดดมาก แต่ช่องทางนี้ก็ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประสบการณ์ทางการตลาดได้ ดังนั้น จะต้องมีการเชื่อมต่อแบบ O2O (Online to Offline) ให้ได้ ต้องดึงลูกค้ามาที่ร้านค้าเพื่อเสพย์ประสบการณ์การใช้สินค้า แล้วนำไปสู่การซื้อสินค้าได้ในที่สุด ดังนั้น ร้านค้าจะต้องมีการตกแต่ง ปรับปรุงร้านค้าให้ดูใหม่อยู่ตลอดเวลา

  5. โรงแรมและที่พัก (Hospitality and Lodging) มีการเน้นถึง 3 ประเด็นใหญ่คือ อยู่อย่างยั่งยืน (ลดการปล่อยของเสีย ไม่ทำให้สิ่งแวดล้อมแย่), อยู่ได้ (เน้นบริการเฉพาะตัวในการสร้างประสบการณ์ให้ผู้เข้าพัก) และยืดหยุ่นโดยปรับสินทรัพย์ที่เลิกกิจการหรือที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ไปให้ใช้ประโยชน์อื่น ๆ นอกจากนี้ ธัญรินท์มองว่า โรงแรมและที่พักจะต้องปรับตนเองให้เป็นจุดมุ่งหมายของนักเดินทางให้ได้ เช่น เป็นจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, เชิงนิเวศน์, เชิงกีฬาและอื่น ๆ ปรับรูปแบบการตกแต่งและการให้บริการให้เป็นไปตามนั้น หมั่นดูแล ตกแต่งและ Renovate พื้นที่ จะได้เสริมสร้างประสบการณ์ผู้เข้าพักให้มีความต้องการที่จะกลับมาพักอีกนั่นเอง


โดยรวมแล้ว อสังหาริมทรัพย์ไทยจะต้องมีการขยับเพื่อปรับเปลี่ยนให้ผู้อยู่อาศัยและผู้ใช้สถานที่นั้น ๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับความสะดวกสบายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอน แต่รายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และอีกหลายฝ่ายจะต้องระดม Idea เพื่อให้เกิดมิติใหม่ และตอบสนองความต้องการของผู้คนที่จะมีความหลากหลายมากขึ้นให้ได้นั่นเอง


Cr.กรุงเทพธุรกิจ

46 views0 comments

Recent Posts

See All

Komentáre


bottom of page